อาหารพื้นบ้านภาคใต้
อาหารพื้นบ้านภาคใต้มีรสชาติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สืบเนื่องจากดินแดนภาคใต้เคยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือค้าขายของพ่อค้าจากอินเดีย จีนและชวาในอดีต ทำให้วัฒนธรรมของชาวต่างชาติโดยเฉพาะอินเดียใต้ ซึ่งเป็นต้นตำรับในการใช้เครื่องเทศปรุงอาหารได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก
อาหารพื้นบ้านภาคใต้ทั่วไป มีลักษณะผสมผสานระหว่างอาหารไทยพื้นบ้านกับอาหารอินเดียใต้ เช่น น้ำบูดู ซึ่งได้มาจากการหมักปลาทะเลสดผสมกับเม็ดเกลือ และมีความคล้ายคลึงกับอาหารมาเลเซีย อาหารของภาคใต้จึงมีรสเผ็ดมากกว่าภาคอื่น ๆ และด้วยสภาพภูมิศาสตร์อยู่ติดทะเลทั้งสองด้าน มีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่สภาพอากาศร้อนชื้น ฝนตกตลอดปี อาหารประเภทแกงและเครื่องจิ้มจึงมีรสจัด ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ป้องกันการเจ็บป่วยได้อีกด้วย แกงที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ คือ แกงเหลือง แกงไตปลา เครื่องจิ้มก็คือ น้ำบูดู และชาวใต้ยังนิยมนำน้ำ
บูดูมาคลุกข้าวเรียกว่า
"ข้าวยำ" มีรสเค็มนำและมีผักสดหลายชนิดประกอบ
นอกจากนี้ ยังมีผักหลายชนิดที่คนภาคใต้นิยมรับประทานกันจนเป็นเอกลักษณ์ของอาหารภาคใต้ ได้แก่ ฝักสะตอ มีลักษณะเป็นฝักยาว สีเขียว เวลารับประทานต้องปอกเปลือกแล้วแกะเม็ดออก ใช้ทั้งเม็ด หรือนำมาหั่นปรุงอาหารโดยใช้ผัดกับเนื้อสัตว์หรือใส่ในแกง นอกจากนี้ยังใช้ต้มกะทิรวมกับผักอื่น ๆ หรือใช้เผาทั้งเปลือกให้สุกแล้วแกะเม็ดออกรับประทานกับน้ำพริก หรือจะใช้สด ๆ โดยไม่ต้องเผาก็ได้ ถ้าต้องการเก็บไว้นาน ๆ ควรดองเก็บไว้
เม็ดเหรียง เป็นคำเรียกของคนภาคใต้ มีลักษณะคล้ายถั่วงอกหัวโต แต่หัวและหางใหญ่กว่ามาก สีเขียว เวลาจะรับประทานต้องแกะเปลือกซึ่งเป็นสีดำออกก่อน จะนำไปรับประทานสด ๆ หรือนำไปผัดกับเนื้อสัตว์ หรือนำไปดองรับประทานกับแกงต่าง ๆ หรือกับน้ำพริกกะปิ หรือจะนำมาหลนก็ได้
ลูกเนียง มีลักษณะกลม เปลือกแข็งสีเขียวคล้ำเกือบดำ ต้องแกะเปลือกนอก แล้วรับประทานเนื้อใน ซึ่งมีเปลือกอ่อนหุ้มอยู่ เปลือกอ่อนนี้จะลอกออกหรือไม่ลอกก็ได้แล้วแต่ความชอบ ใช้รับประทานสด ๆ กับน้ำพริกกะปิ หลนแกงเผ็ด โดยเฉพาะแกงไตปลา ลูกเนียงที่แก่จัดใช้ทำเป็นของหวานได้ โดยนำไปต้มให้สุกแล้วใส่มะพร้าวทึนทึกขูดฝอย และน้ำตาลทรายคลุกให้เข้ากัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น